Banner 728x90

อัพเดท! 26 พ.ย. อาการของ "ปอ-ทฤษฎี" ช่วงก่อนหน้านี้ถึงตอนนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง!


อัพเดท! 26 พ.ย. อาการของ "ปอ-ทฤษฎี" ช่วงก่อนหน้านี้ถึงตอนนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง!

ความคืบหน้าอาการ ป่วยของดาราหนุ่ม “ปอ-ทฤษฎี สหวงษ์” ซึ่งรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี หลังป่วยเป็นไข้เลือดออกขั้นรุนแรงและลุกลามด้วยอาการติดเชื้ออื่นๆ กระทั่งแพทย์ต้องตัดสินใจตัดขาซ้ายบริเวณเหนือข้อเท้าทิ้งเพื่อรักษาชีวิต เอาไว้

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน โรงพยาบาลรามาธิบดี ยังได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 15 ชี้แจงอาการป่วยของ ปอ โดยสรุปว่า อาการของผู้ป่วยใน 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมา ทรงตัวขึ้น ความดันเลือดควบคุมได้ดี สามารถลดยากระตุ้นความดันเลือดได้ ผู้ป่วยสามารถกระพริบตาและหายใจได้เองบางส่วน แต่ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจประคับประคอง สามารถหยุดยาคลายกล้ามเนื้อ การทำงานของตับและภาวะไตวายเฉียบพลันคงที่ ขณะนี้ยังต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านแบคทีเรียและเชื้อรา ให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำและทางสายยางและการฟอกไตต่อเนื่อง โดยสรุปแม้ตรวจไม่พบเชื้อไข้เลือดออกในตัวผู้ป่วยแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นวิกฤติที่มีภาวะโรคแทรกซ้อนที่เหลืออยู่ ได้แก่ ภาวะไตวายเฉียบพลันและการติดเชื้อ ต้องได้รับการเฝ้าระวังใน CCU ต่อไป

ด้านนพ.วินิต พัวประดิษฐ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมด้วยคณะแพทย์ผู้ให้การรักษา ได้ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าอาการป่วยของ ปอ-ทฤษฎี

โดย นพ.วินิต กล่าวว่า อาการล่าสุดของปอเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น สามารถลืมตาและขยับตัวได้ โดยทีมแพทย์ได้หยุดให้ยาคลายกล้ามเนื้อและยากระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต โดยหลังจากการผ่าตัดลำไส้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยังไม่มีการให้เลือกเพิ่มเติมแก่ผู้ป่วย ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี ส่วนกระแสข่าวการตัดขาขวาของปอไปอีกข้างหนึ่งนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะยังมีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงขาขวาเป็นอย่างดี เวลานี้อยู่ในระหว่างรอให้อวัยวะสำคัญในร่างกายกลับคืนเป็นปกติ เช่น สมอง ไต ซึ่งยังต้องมีการฟอกไตอยู่ ส่วนตับและปอดเริ่มทำงานดีขึ้นแล้ว

ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่เข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน คณะแพทย์ได้ผ่าตัดช่วยเหลือปอ 4 ครั้ง คือ 1.ผ่าตัดช่องอกด้านซ้ายเพื่อระบายเลือด แก้ปัญหาเรื่องการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน 2.การขาดเลือดที่เท้าซ้าย และมีการติดเชื้อซ้ำซ้อน ซึ่งต้องยอมสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต จึงจำเป็นต้องตัดขาซ้ายเหนือระดับข้อเท้า 3.ผ่าตัดช่องอกเพื่อระบายเลือดในวันเดียวกับที่ตัดขาซ้าย และ 4.ผ่าตัดลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย เนื่องจากมีภาวะเลือดออก อย่างไรก็ตาม หลังการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบว่ามีสัญญาณดีขึ้น ขณะนี้เลิกใช้เครื่องพยุงการทำงานของปอดและหัวใจแล้วตั้งแต่วันที่ 19 พศจิกายนที่ผ่านมา เนื่องจากสามารถหายใจเองได้ งดการให้ยาคลายกล้ามเนื้อและเริ่มมีการกระพริบตา จากนี้ไปยังต้องควบคุมภาวะการติดเชื้อ โดยภาพรวมถือว่ายังไม่พ้นวิกฤต และยังต้องเฝ้าระวังอาการต่อไป

นพ.พอพล โรจนะพันธุ หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เวลาที่รักษาภาวะอักเสบรุนแรง ต้องยอมรับว่า จะมีข้อแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะการติดเชื้อรา ซึ่งคณะแพทย์ได้เฝ้าระวังตลอด มีการส่งตรวจเลือดและติดตามเฝ้าระวัง พร้อมทั้งให้ยาฆ่าเชื้อป้องกันควบคู่กันไป ส่วนเรื่องความดันนั้น เมื่อความดันในร่างกายตก จะทำให้อวัยวะบางส่วนมีอาการขาดเลือด ต้องให้ยากระตุ้นความดันเพื่อรักษาระบบส่วนรวม หลอดเลือดจะหดตัวเกือบทั้งร่างกาย อวัยวะส่วนที่สำคัญที่สุดจะได้รับเลือดก่อน ส่วนมือและเท้าเป็นส่วนที่ต้องการเลือดน้อย จึงมักมีการขาดเลือด ส่วนปัญหาการติดเชื้อในลำไส้ หลังจากมีการผ่าตัดเพื่อหยุดเลือด ก็ยังไม่พบความจำเป็นต้องใช้ยากระตุ้นความดันต่อ ส่วนการเฝ้าระวังการติดเชื้อในปอด ซึ่งมีการเฝ้าระวังและส่องกล้องพบเชื้อราที่ปอด มีการให้ยาฆ่าเชื้อ โดยรวมคิดว่าน่าจะควบคุมได้

พญ.นงนุช สิระชัยนันท์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยนั้น มีการใช้เกล็ดเลือดจำนวนมาก โดยได้รับเลือดจากผู้บริจาคมากกว่า 200 คน เนื่องจากเกล็ดเลือด 1 ยูนิต ต้องใช้เลือดจากผู้บริจาค 10 คน ทำให้สามารถให้เลือดแก่ผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การหยุดเลือดยังใช้วิธีการผ่าตัดช่วยนอกเหนือจากการให้เลือด ทำให้การให้เกล็ดเลือด ส่วนประกอบเลือดลดลง โดยขณะนี้มีการให้เกล็ดเลือดวันละ 2 ครั้ง น้ำเหลืองจะให้ทุก 6 ชั่วโมง

ด้าน พญ.ศรินยา บุญเกิด ผู้เชี่ยวชาญโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล รามาธิบดี กล่าวว่า ภาวะไตวายขณะนี้ยังต้องช่วยเหลือ แต่หากผู้ป่วยมีสัญญาณดีขึ้นก็พร้อมที่จะถอนการช่วยเหลือ แต่จากการรับตัวผู้ป่วยมาตั้งแต่แรกพบว่า ค่าทำงานของไตอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ค่าการทำงานของไตจะกลับมาทำงานดีขึ้นเช่นเดิม แต่ตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการรักษาอยู่ ต้องพิจารณาว่าผู้ป่วยสามารถปัสสาวะเองได้เมื่อไร

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังต้องป้องกันการติดเชื้อซ้อน เนื่องจากยังพบการขาดเลือดที่ปลายผิวหนังของนิ้วเท้า ซึ่งจะทำให้การต้านทานเชื้อโรคนั้นมีปัญหา และต้องทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น โดยหัวใจต้องสามารถสูบฉีดเลือดและส่งยาไปถึงปลายเท้าให้ได้ ขณะนี้ถือว่าอยู่บนทางสองแพร่ง แต่หวังว่าจะไปในทางที่ดีขึ้น

ที่มา: http://www.siamupdate.com/news-178930

Tag : Hot
0 Comment "อัพเดท! 26 พ.ย. อาการของ "ปอ-ทฤษฎี" ช่วงก่อนหน้านี้ถึงตอนนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง! "

Back To Top